BLOGGER TEMPLATES AND TWITTER BACKGROUNDS »

วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553

KM:การประเมินโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ

ชื่อ ผลงานทางวิชาการ การประเมินโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ
เศรษฐกิจพอเพียง ในโรงเรียนสุเหร่าลำแขก ปีการศึกษา 2552
ชื่อผู้เสนอผลงาน นายทรงวุฒิ สุวรรณธาตรี

บทคัดย่อ

การประเมินผลโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ในโรงเรียนสุเหร่าลำแขก ปีการศึกษา 2552 มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการดำเนินงานในประเด็นต่างๆโดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ของแดเนียล แอล สตัฟเฟิลบีม (Daniel L. Stufflebeam) ดังนี้ 1) เพื่อประเมินด้านสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับความเหมาะสมและความสอดคล้องกับนโยบายและวัตถุประสงค์ของโครงการ 2) เพื่อประเมินด้านปัจจัยนำเข้าเกี่ยวกับการจัดบุคลากร ทรัพยากรและปัจจัยสนับสนุนอื่นๆในการดำเนินโครงการ 3) เพื่อประเมินด้านกระบวนการเกี่ยวกับการดำเนินงานตามโครงการ 4) เพื่อประเมินด้านผลผลิตเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ของโครงการ
กลุ่มเป้าหมายในการประเมิน ประกอบด้วยนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 โรงเรียนสุเหร่าลำแขก จำนวน 278 คน ผู้ปกครองของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 โรงเรียนสุเหร่าลำแขก จำนวน 278 คน ครูโรงเรียนสุเหร่าลำแขกจำนวน 34 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 15 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป วิเคราะห์ค่าสถิติ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ ค่าความถี่ วิเคราะห์เปรียบเทียบด้วย t – test
ผลการประเมินโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ในโรงเรียนสุเหร่าลำแขก ปีการศึกษา 2552 สรุปได้ดังนี้
1. ด้านสภาพแวดล้อม ตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐาน ผลการประเมินโดยภาพรวม มีความคิดเห็นว่า มีความเหมาะสม สอดคล้องอยู่ในระดับ มากที่สุด
2. ด้านปัจจัยนำเข้า ตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผลการประเมินความพร้อมในการเตรียมงาน งบประมาณ สถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ บุคลากร และการได้รับการสนับสนุน โดยภาพรวม มีความคิดเห็นว่า มีความพร้อมอยู่ในระดับ มากที่สุด
3. ด้านกระบวนการ ตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผลการประเมินโดยภาพรวมมีความคิดเห็นว่า มีกระบวนการดำเนินงานอยู่ในระดับ มากที่สุด
4. ด้านผลผลิต ตามความคิดเห็นของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานผลการประเมินโดยประเมินสภาพการเรียนรู้ของนักเรียน หลังดำเนินโครงการ จากความคิดเห็นของนักเรียน ครู ผู้ปกครองและคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวม มีความคิดเห็นว่า สภาพการเรียนรู้ของนักเรียนอยู่ในระดับ มากที่สุด
เมื่อเปรียบเทียบผลการประเมินก่อนและหลังดำเนินการด้านผลผลิตของโครงการโดยภาพรวม สูงกว่า ก่อนดำเนินโครงการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 และเมื่อพิจารณารายข้อพบว่า ค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกข้อ
ผลสัมฤทธิ์ของการจัดกิจกรรมทั้ง 18 กิจกรรมตามโครงการ พบว่าอยู่ในระดับ มากที่สุด
เมื่อพิจารณาเป็นรายกิจกรรม พบว่ามีผลสัมฤทธิ์ในระดับมากที่สุด ทุกกิจกรรม